วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

วิเคราะห์มูลค่าด้วย DCF หรือด้วยค่า PE?

เขียนโดยคุณ Invisible Hand แห่ง thaivi.com

หลายคนอาจจะสงสัยว่า  VI จำเป็นต้องทำ model การหา valuation ด้วยวิธี DCF  หรือไม่    หากถามผมๆ คิดว่าถ้าทำอาจจะทำให้สบายใจและมั่นใจขึ้นได้แต่คิดว่าไม่จำเป็น     แต่ก่อนที่ผมจะสรุปว่าไม่จำเป็นผมจึงต้องอธิบายที่มาของการคิด DCF  คร่าวๆ  ก่อนครับ

DCF   =  กระแสเงินสดในอนาคตเป็นมูลค่าปัจจุบัน ( Present value )  +  เงินสด ( หนี้สิน ) สุทธิ

การทำมูลค่าในอนาคตให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน  คือ  การ discount   ด้วยอัตราดอกเบี้ย discount rate    โดย discount rate



Discount rate

ถ้า discount rate  เท่ากับ 10%    เงิน 110 บาทใน 1 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่า 100 บาท   ในปัจจุบัน      เหตุผลที่เงิน 110 บาทใน 1 ปีข้างหน้ามีมูลค่า 100 บาทในปัจจุบันเนื่องจากหากนำเงิน 100 บาทไปลงทุนโดยได้ผลตอบแทนเท่ากับ 10%   เงิน 100 บาทในปัจจุบันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 110  บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า

ดังนั้นหากมีใครมาถามเราว่าให้เลือกระหว่างได้เงิน 100 บาทในปีนี้    หรือจะเลือกเงิน 110 บาทในปีหน้า     ภายใต้สมมุติฐานว่าเราสามารถนำเงินลงทุนได้ผลตอบแทน 10%   เราจะเลือกแบบไหน    คำตอบที่หลายคนจะตอบก็คือ   เลือก 100 บาทวันนี้   เพราะถ้าเป็นปีหน้าเดี๋ยวคนให้เงินจะเปลี่ยนใจไม่ให้แล้ว     แต่คำตอบในเชิงการเงินก็คือ   เลือกแบบไหนก็ได้   ค่าเท่ากันครับ

ดังนั้นเงิน 100 บาทในปัจจุบัน   จะมีมูลค่ามากกว่า 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้ามาก   หรืออาจจะมีมูลค่ามากกว่าเงิน 200 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำไปครับหากอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากการลงทุนสูงมากพอ

หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับการหามูลค่าปัจจุบันหรือ present value แล้ว     ตัว discount rate  หรือที่ศัพท์ทางการเงินเรียกว่า WACC     โดยถ้าหุ้น 2 ตัวมีปัจจัยทุกอย่างเหมือนกันหมด   หุ้นตัวที่ใช้ discount rate สูงจะมีมูลค่าแบบ DCF  ต่ำกว่า  

สำหรับ discount  rate   นั้นขึ้นกับตัวแปรต่างๆ  ดังนี้ครับ

-   อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด   ส่วนใหญ่จะใช้อัตราดอกเบี้ย ( yield ) ของพันธบัตรอายุ 10 ปีเป็นตัวอ้างอิง    ถ้าดอกเบี้ยสูง   discount rate ก็จะสูง
-   Beta   คือ  ความผันผวนของราคาหุ้นตัวนั้นๆ เทียบกับความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์    ซึ่ง beta   ในทางทฤษฎีการเงินคือเป็นตัววัดความเสี่ยงของหุ้นตัวนั้น    โดยตั้งอยู่ในสมมุติฐานว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงจะมี beta สูง   คือ  จะมีความผันผวนของราคาสูง    ซึ่งทฤษฎีนี้ใกล้เคียงความจริงหรือไม่ผมคิดว่าก็มีความใกล้เคียงอยู่บ้าง     เช่น  หุ้นที่มี beta สูงในตลาดไทย เช่น  หุ้นไฟแนนซ์   หุ้นรับเหมาก่อสร้าง   หุ้นอสังหาฯ   วัสดุก่อสร้าง    ซึ่งล้วนแล้วมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง      ส่วนหุ้นที่มี beta ต่ำก็มักจะเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำกว่าหุ้นที่มี beta สูง   discount rate ก็จะสูงตามไปด้วยครับ

ดังนั้น    ถึงตรงนี้เราได้ 2 ประเด็นแล้วครับว่า    ถ้าช่วงไหนดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้น    discount rate   ที่ใช้คำนวณ DCF ก็จะสูง     ทำให้ราคาหุ้นตามวิธี DCF  ก็จะต่ำลง    ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อดอกเบี้ยลดลงและมี แนวโน้มจะปรับตัวลดลงเมื่อมีข่าวว่าดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น   ดังนั้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น   หุ้นมักจะมี p/e ต่ำ   แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง   หุ้นจะมี p/e สูง

ส่วนเรื่อง beta  หรือความเสี่ยงนั้น   ก็เช่นกันครับ   หุ้นที่มีความเสี่ยงหรือ beta สูง   ก็จะทำให้ discount rate สูง    ราคาหุ้นตามวิธี DCF ก็จะต่ำลง      ดังนั้นหุ้นที่มี beta หรือความเสี่ยงสูง  ก็ควรจะมี p/e ต่ำกว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ

การคิดกระแสเงินสดสุทธิ  หรือ   Free cash flow   มีสูตรดังนี้ครับ

Free cash flow  =   กำไรสุทธิ  +   ค่าเสื่อมราคา  + การเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน  +   รายจ่ายลงทุนในสินทรัพย์

เงินทุนหมุนเวียน  คือ  “ เงินสด “   ที่ต้องใช้ในการซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการขายสินค้าและบริการ  

รายการการเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะเป็น “ ลบ “  ก็ต่อเมื่อ
มีการ  “ เพิ่มขึ้น “ ของสินค้าคงคลังและวัตถุดิบ   เพราะต้องใช้เงินในการซื้อวัตถุดิบ
มีการ  “ เพิ่มขึ้น “  ของลูกหนี้การค้า    แสดงว่ารายได้ 100 บาท   เข้ามาเป็นเงินสดไม่ถึง 100 บาท
มีการ  “ ลดลง  “  ของเจ้าหนี้การค้า   แสดงว่ารายจ่าย 100 บาท   ยังไม่ต้องจ่ายทั้งหมด 100 บาทในทันที

การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะเป็น  “ บวก “  ก็ต่อเมื่อ

มีการ  “ ลดลง “ ของสินค้าคงคลังและวัตถุดิบ   แสดงว่าสินค้าที่ขายออกไปมีมากกว่าที่ซื้อวัตถุดิบเข้ามา
มีการ  “ลดลง  “  ของลูกหนี้การค้า
มีการ  “ เพิ่มขึ้น “  ของเจ้าหนี้การค้า

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า   ในธุรกิจทั่วๆ ไป   เมื่อมีการขยายกิจการ  คือ  มีการผลิตสินค้ามากขึ้น   ก็ย่อมจะต้องมีการสั่งวัตถุดิบและมีจำนวนสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น      เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้นก็ย่อมทำให้ลูกหนี้การค้ามากขึ้น     ดังนั้นธุรกิจทั่วๆ ไปเมื่อมีการขยายกิจการจะทำให้การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะติดลบ    คือธุรกิจนั้นๆ  จะต้องใช้เงินสดในกิจการมากขึ้น     ดังนั้นธุรกิจส่วนใหญ่แม้ยอดขายเพิ่มขึ้นและกำไรเพิ่มขึ้น    แต่เงินสดที่เข้ามาในบริษัทมักจะต่ำกว่ากำไร      แต่ธุรกิจที่เมื่อขยายสาขาหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่กลับยิ่งมีเงินสดมาก ขึ้น   คือธุรกิจค้าปลีก   เพราะมีการขายเป็นเงินสด    แต่จ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ค่าสินค้าเป็นเงินเชื่อ    ดังนั้นวันที่เปิดสาขาใหม่   ก็จะได้เงินสดมาทันทีแต่เงินสดนั้นจะถูกจ่ายให้กับเจ้าหนี้ในอีก 45-60 วัน    ดังนั้นหากมีการคิด DCF  ธุรกิจค้าปลีกเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ   ถ้ากำไรสุทธิต่อปีเท่าๆ กัน    ธุรกิจค้าปลีกจะมีกระแสเงินสดสุทธิ หรือ Free cash flow สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ      จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมหุ้นค้าปลีกจึงมี p/e สูงกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ  ที่มีการเติบโตของกำไรเท่าๆ กัน

ยิ่งธุรกิจใดให้เครดิตลูกหนี้การค้ายิ่งนาน    บริษัทนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียนติดลบมากกว่าบริษัทที่ให้ เครดิตลูกหนี้สั้นกว่า     และบริษัทใดที่ขายสินค้าเป็นเงินสด   ก็จะทำให้ใช้เงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่ามาก

บริษัทใดที่มีการขายสินค้าโดยใช้เวลานาน   ก็จะใช้เงินทุนหมุนเวียนมากกว่าบริษัทที่ขายสินค้าในเวลาอันสั้นกว่า    และอย่างที่ผมพูดไปในหน้าก่อนๆ  คือ   ยิ่งขายได้เร็วก็ทำให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง   ดังนั้นสิ่งที่เถ้าแก่คนจีนนิยมทำนานมาแล้วคือ   เน้นการขายเร็วๆ  มากๆ  เอา volume   ก็เป็นความคิดที่ถูกต้องตามทฤษฎีการเงิน    แม้ว่าอาเฮียเหล่านั้นจะไม่ได้เรียน MBA มาก็ตาม

รายจ่ายในการลงทุนในสินทรัพย์     เป็นรายการ “ ลบ “ ในการหา Free cash flow   ยิ่งมีการลงทุนมากๆ   Free cash flow ก็ยิ่งมีโอกาสติดลบมากขึ้น     ดังนั้นหุ้นที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการขยายกิจการ    ก็จะทำให้  Free cash flow   ติดลบมากกว่าหุ้นที่สามารถขยายกิจการโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก     โดยทั่วไปหุ้นในภาคการผลิต  อุตสาหกรรม   มักจะต้องใช้เงินลงทุนในการขยายกิจการมากกว่าหุ้นประเภทธุรกิจบริการ     เมื่อใช้เงินทุนน้อย  กระแสเงินสดก็จะเป็นบวกได้มากกว่า    หุ้นภาคบริการมักจะมีมูลค่าแบบ DCF สูงกว่าหุ้นในภาคการผลิตแม้ว่าจะมีกำไรสุทธิในแต่ละปีหรือปัจจัยอื่นๆ  ใกล้กัน     ดังนั้นหุ้นที่ทำธุรกิจบริการมักจะมี p/e สูงกว่าหุ้นในภาคอุตสาหกรรม

หุ้นที่ต้องใช้เงินลงทุนหมุนเวียน  ( เงินสด ) จำนวนมากในการเพิ่มยอดขาย   มักจะต้องมีการกู้เงินระยะสั้น หรือ Bank O/D  จากธนาคารเพื่อมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน     และยังอยู่ในธุรกิจที่ต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายกำลังการผลิต    และยิ่งหุ้นดังกล่าวมีหนี้ในสัดส่วนที่สูงด้วยนั้น   หุ้นประเภทดังกล่าวมักจะมีโอกาสสูงที่จะต้องหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การกู้เงินเพื่อชดเชยกระแสเงินสดที่ติดลบในอนาคต    ดังนั้นหุ้นที่มีลักษณะเหล่านี้ร่วมกันจึงมีความเสี่ยงในการเพิ่มทุนสูง   เมื่อหุ้นมีการเพิ่มทุนก็ย่อมทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง   ดังนั้นหุ้นที่มีความเสี่ยงในการเพิ่มทุนมักจะมี p/e  ที่ต่ำกว่าหุ้นที่สามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน

การเติบโตทางธุรกิจ    เนื่องจากการทำ DCF คือการประมาณกระแสเงินสดในอนาคต  ดังนั้นหุ้นที่มีการเติบโตในอนาคตสูง   ก็จะมีกระแสเงินสดในอนาคตที่เพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันมาก    ดังนั้นหุ้นที่มีการเติบโตสูงจึงจะมี DCF  สูงกว่าหุ้นที่มีการเติบโตต่ำ  

ปัจจัยสุดท้ายที่มีผลต่อการคำนวณ DCF  ก็คือ  มูลค่าเงินสด หรือหนี้สินสุทธิ   ซึ่งก็คือ
เงินสดสุทธิ  =   เงินสดในบริษัท -  หนี้สินระยะยาว  - หนี้สินระยะสั้นที่มีดอกเบี้ย

ดังนั้น   ถ้าปัจจัยทุกอย่างเหมือนกันหมด  หุ้นที่มีเงินสดสุทธิเป็นบวกก็จะมี DCF สูงกว่าหุ้นที่มีหนี้สิน

สรุป  มูลค่าหุ้นตามแบบ DCF  จะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญดังนี้ครับ

-  อัตราดอกเบี้ย   ถ้าดอกเบี้ยต่ำลง   มูลค่า DCF จะสูงขึ้น
-  ความเสี่ยงของธุรกิจ   ถ้าธุรกิจมีความเสี่ยงสูง   DCF  ก็จะต่ำ
-  การให้เครดิตลูกค้ายาวๆ   DCF จะต่ำ
-  การได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้การค้ายาวๆ   DCF จะสูง
-  ขายสินค้าได้เร็ว   มีการเก็บสินค้าคงคลังต่ำ   DCF  จะสูง
-  ต้องมีการลงทุนจำนวนมากๆ  ในการขยายกิจการ   เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดในแต่ละปี  DCF จะต่ำ
-   มีการเติบโตสูง   DCF จะสูง
-   มีหนี้มากๆ   DCF จะต่ำ

           สำหรับ DCF  กับ p/e  จะมีความสัมพันธ์กัน   หากหุ้น 2 ตัวที่ปัจจุบันมีกำไรสุทธิเท่ากัน   หุ้นตัวที่มีราคาเป้าหมายโดยวิธี  DCF สูงกว่า    จะมี p/e  ที่เหมาะสมสูงกว่าหุ้นที่มีราคาเป้าหมายโดยวิธี DCF  ต่ำกว่า    ดังนั้น   ด้วยย่อหน้าข้างบน  เราสามารถเปลี่ยนคำว่า DCF  เป็น p/e  ได้เป็น

-  อัตราดอกเบี้ย   ถ้าดอกเบี้ยต่ำลง   p/e ของหุ้น   จะสูงขึ้น
-  ความเสี่ยงของธุรกิจ   ถ้าธุรกิจมีความเสี่ยงสูง   p/e   ก็จะต่ำ
-  การให้เครดิตลูกค้ายาวๆ   p/e  จะต่ำ
-  การได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้การค้ายาวๆ   p/e  จะสูง
-  ขายสินค้าได้เร็ว   มีการเก็บสินค้าคงคลังต่ำ   p/e  จะสูง
-  ต้องมีการลงทุนจำนวนมากๆ  ในการขยายกิจการ   เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดในแต่ละปี  p/e จะต่ำ
-   มีการเติบโตสูง  p/e  จะสูง
-   มีหนี้มากๆ   p/e   จะต่ำ

ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจหลักของ DCF แล้ว     เราก็ไม่จำเป็นต้องทำ model DCF  ก็ได้   เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าธุรกิจที่เราต้องการวิเคราะห์นั้นเป็นอย่างไร     มีการเติบโตสูงหรือต่ำ    มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงหรือไม่     เมื่อต้องการขยายธุรกิจต้องใช้เงินทุนจำนวนมากหรือไม่      มีหนี้มากหรือน้อยเพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น