เขียนโดย นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ (สุมาอี้) ครับ
วิธีตรวจงบการเงินที่ง่ายที่สุดคือ การวัดอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ หรือที่เรียกว่า Ratio Analysis อัตราส่วนทางการเงินนั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายตัวมาก เราอาจตรวจดูอัตราส่วนหลายๆตัวพร้อมกัน เพื่อเป็นการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปของบริษัทก็ได้ ต่อไปนี้เป็นอัตราส่วนสำคัญ 6 ตัว ที่ผมแนะนำให้ลองตรวจสอบดูก็จะได้ภาพของธุรกิจที่ครอบคลุมพอสมควร
1. Quick Ratio = (เงินสดและเทียบเท่า + ลูกหนี้การค้า + ตราสารการเงินระยะสั้น) / หนี้สินหมุนเวียน
Quick Ratio ใช้เช็ค “สภาพคล่อง” ของบริษัท โดยลองสมมติว่าถ้าเจ้าหนี้ระยะสั้น (หนี้สินหมุนเวียน) ทั้งหมดมาทวงหนี้พร้อมกัน บริษัทจะยังสามารถหมุนเงินสด (จากสินทรัพย์หมุนเวียนที่หมุนได้เร็ว) มาใช้คืนได้หรือไม่ โดยสามัญสำนึก Quick Ratio ก็ควรมากกว่า 1.0 และยิ่งมากก็ยิ่งดี ที่จริงแล้วมีอัตราส่วนอีกตัวที่คล้ายกันชื่อ Current Ratio ซึ่งนับรวมสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดของบริษัทว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว แต่ ผมไม่ชอบ เพราะไม่รู้ว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ คืออะไรบ้าง และเวลาบริษัทขาดสภาพคล่องส่วนใหญ่แล้วสินค้าคงคลังมักจะหมุนไม่ค่อยออก เลยชอบดู Quick Ratio มากกว่าครับ
2. Return on Assets (ROA) = EBIT * (1-Taxrate) / สินทรัพย์เฉลี่ย
สินทรัพย์เฉลี่ย ROA ใช้วัดผลตอบแทนของธุรกิจ เพราะวัดกำไร(EBIT)ที่ทำได้ เทียบกับเงินทุนที่จมอยู่ในสินทรัพย์ทั้งหลายของกิจการ (ต้อง เฉลี่ยต้นปีกับท้ายปีเอา เพราะว่าไม่เท่ากัน) โปรดสังเกตว่า ผลตอบแทนของธุรกิจที่แท้จริงนั้นต้องวัดเทียบกับสินทรัพย์มิใช่รายได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ต้นทุนจริงๆของผู้ถือหุ้นคือเงินทุนที่จมอยู่ในรูปของสินทรัพย์ของบริษัทแทน ที่จะเอาเงินนั้นไปหาผลตอบแทนอย่างอื่น บางคนใช้ Net Income แทนกำไร แต่ผมคิดว่าควรใช้ EBIT มากกว่า เพราะสินทรัพย์เป็นของเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นรวมกัน แต่ Net Income เป็นผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเท่านั้น เพราะหักดอกเบี้ยออกไปแล้ว ส่วนเหตุที่ต้องคูณด้วย 1-TaxRate เป็นเพราะ EBIT นั้นยังไม่ได้หักภาษีซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทออก มีอัตราส่วนอีกตัวหนึ่งที่คล้ายกันคือ ROE ซึ่งวัดผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นอย่างเดียว แต่ ผมเห็นว่า ROA นั้นดีกว่า ROE เพราะธุรกิจอย่างเดียวกัน อาจมี ROE ต่างกันได้ด้วยการกู้เงิน ถ้าอยากวัดศักยภาพของธุรกิจจริงๆ โดยไม่เกี่ยวกับการกู้เงิน ต้องดูกันที่ ROA ธุรกิจทั่วไปควรมี ROA อย่างน้อย 10% เฉลี่ยในระยะยาว ยกเว้นพวกสถาบันการเงินซึ่งไม่มีทางทำ ROA สูงเท่ากับ Real Sector ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี
3. Debt to equity Ratio = (หนี้สิน) / ส่วนของทุน
ส่วนของทุน D/E ratio คือ อัตราส่วนมาตรฐานที่ใช้ตรวจดู Leverage ของบริษัท หมายความว่า บริษัทใช้หนี้มากขนาดไหนในการเร่งผลตอบแทน เพราะบริษัทสองบริษัทที่ทำผลตอบแทนทางธุรกิจได้เท่ากัน บริษัทที่มีหนี้มากกว่าจะทำผลตอบแทนกลับสู่ผู้ถือหุ้นได้สูงกว่า (ROE มากกว่า) เนื่องจากใช้เงินทุนของผู้ถือหุ้นน้อย แล้วอาศัยการกู้เงินมาทุนแทน การที่บริษัทมี D/E ratio ที่สูงเกินไป จึงแสดงถึงความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในผลตอบแทนที่มากกว่า เพราะถ้าธุรกิจสะดุด บริษัทที่มีหนี้มากกว่าย่อมเดือดร้อนมากกว่า อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทไม่มีหนี้เลยไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป บริษัทที่มีธุรกิจมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว และมีสินทรัพย์ถาวรที่สามารถใช้ค้ำประกันหนี้ได้ การมีหนี้น้อยเกินไปเท่ากับเป็นการละทิ้งโอกาสที่จะประหยัดภาษี เพราะหนี้เป็น Tax-shield อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการมีหนี้บ้างไม่ใช่เรื่องเสียหาย อาจเป็นเรื่องที่ควรกระทำเสียด้วยซ้ำ แต่ที่เราต้องระวังคือการมีหนี้มากจนเกินไปจนทำให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยงมากกว่าที่จะช่วยทำให้ประหยัดภาษี สำหรับธุรกิจทั่วไปควรมี D/E ไม่เกิน 1.0 ถ้าเป็นธุรกิจซื้อมาขายไปอาจมี D/E ได้ถึง 3.0 ยกเว้นพวกสถาบันการเงินที่จะต้องมี D/E ที่สูงกว่านั้นมากครับ
4. Interest Coverage Ratio = (EBIT) / ดอกเบี้ยจ่าย
ดอกเบี้ยจ่าย Interest Coverage Ratio ใช้ประมาณความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินภายนอกบริษัท เพราะถ้าบริษัทมีภาระจ่ายดอกเบี้ยต่อปีน้อยกว่ากำไรที่ได้จากธุรกิจมากๆ บริษัทก็สามารถรับผิดชอบภาระดอกเบี้ยได้ด้วยผลกำไรจากธุรกิจเอง นับว่าเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งของธุรกิจในแง่ของสภาพคล่อง บริษัทที่มีค่านี้น้อยกว่า 2.0 แสดงว่าผลตอบแทนส่วนใหญ่ของธุรกิจตกอยู่ในมือเจ้าหนี้ แทนที่จะเป็นของผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจแสดงถึงการกู้เงินที่มากเกินไปด้วย
.
5. Asset Turnover = (รายได้) / สินทรัพย์
สินทรัพย์ Asset Turnover ใช้วัด “ประสิทธิภาพ” ของธุรกิจ เพราะวัดว่าภายใต้สินทรัพย์ที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง บริษัทสามารถสร้างรายได้ได้มากแค่ไหน ยิ่งสร้างรายได้ได้มากแสดงว่าสินทรัพย์ของบริษัทถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า เพราะนำไปหมุนให้เปลี่ยนเป็นเงินได้เร็ว บางบริษัทขายของกำไรน้อยมาก แต่สินค้าหมุนเวียนเร็ว ก็สามารถสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจที่สูงกว่าได้เหมือนกัน Asset Turnover จึงเป็นตัวเลขที่ไม่ควรมองข้าม ครั้ง หนึ่งผมเคยเปรียบเทียบมาร์จิ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วเห็นว่า เหมือนๆกันหมด แต่พอลองดู Asset Turnover ก็เห็นว่าแตกต่างกันมาก ทำให้ผมเกิดความสนใจบริษัทที่มี Asset Turnover สูงกว่าเพื่อน เพราะแสดงว่าจริงๆ แล้วบริษัทนี้ใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่เวลาดูมาร์จิ้นแล้วไม่เห็นความแตกต่างเป็นเพราะลูกค้าของอุตสาหกรรมนี้ ค่อนข้างมีการเปรียบเทียบราคาสูงมาก ทำให้ไม่มีบริษัทไหนสามารถเอากำไรเกินตลาดได้ แล้วในที่สุดก็ทำให้ผมได้ค้นพบหุ้นชั้นยอดในเวลาต่อมา ถ้าเราดูแต่มาร์จิ้นเราจะไม่พบความแตกต่างตรงนี้ครับ
6. Inventory Turnover = (ต้นทุนสินค้าขาย) / สินค้าคงคลังเฉลี่ย
สินค้าคงคลัง เฉลี่ย อันนี้เหมือน Asset Turnover แต่วัดกันที่การหมุนสินค้าคงคลังอย่างเดียวเลย เป็นการเช็คว่าสินค้าของบริษัทหมุนเวียนดีหรือไม่ มี dead stock ที่อาจเสื่อมค่าในอนาคตได้เยอะหรือไม่ เป็นตัวเลขที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจที่ขายสินค้าที่แตกต่าง เพราะแม้ว่าสินค้าที่แตกต่างมักจะทำมาร์จิ้นได้สูง แต่ถ้ามีส่วนที่ขายไม่ออกเยอะมาก (ซึ่งปกติต้องมีส่วนหนึ่งอยู่แล้ว) ถึงเวลาต้องมาตัดขาดทุนทิ้ง ทำให้สรุปแล้วอาจทำกำไรได้น้อยหรือขาดทุนเลยก็ได้ ถ้าเอา 365 ตั้งหารด้วย Inventory Turnover จะได้อัตราส่วนใหม่ที่เรียกว่า Days Inventory Turnover มีหน่วยเป็น วัน ซึ่งหมายถึงระยะเวลาโดยประมาณที่สินค้าของบริษัทจะค้างอยู่ในคลังก่อนที่จะ ทำยอดขายให้บริษัทได้ ถ้ายิ่งมีค่าน้อยก็แสดงว่าสินค้าซื้อง่ายขายคล่อง ขายได้แบบแทบไม่ต้องขนขึ้นบ้านเลย เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น