วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

งบการเงินสำหรับนักลงทุน (1/5) : overview

เขียนโดย นรินทร์  โอฬารกิจอนันต์ (สุมาอี้) ครับ

ที่ผ่านมามีหลายท่านอยากให้ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับการ วิเคราะห์งบการเงินบ้าง เพราะหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่อ่านง่ายๆไม่ได้เลย แต่ผมเองนั้นมิใช่นักบัญชี ความรู้บัญชีที่มีอยู่ก็เป็นเพียงแค่ความรู้ที่สะสมมาเพื่อใช้เอาตัวรอดใน ตลาดหุ้นเท่านั้น หลายปีผ่านไป ก็ยังมีคนถามเรื่องนี้อยู่ ไม่ทราบจะทำอย่างไรเหมือนกัน เอาเป็นว่าผมจะใช้บล็อกเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้สักพักก็แล้วกัน เป็นแค่การเล่าให้ฟังว่าตัวผมเองดูอะไรในงบการเงินบ้างเวลาลงทุน

เรื่องงบการเงินนั้น ผมยอมรับว่า ผมเองไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก เพราะผมตัดสินใจลงทุนจากเหตุผลเชิงคุณภาพเป็นหลัก (ธุรกิจมีอนาคตที่สดใส บริษัทมีกลยุทธ์การเติบโตที่ดี บริษัทมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจน ฯลฯ)  ผมจะใช้งบการเงินเป็นแค่การตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่า ตัวเลขต่างๆสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดหรือไม่ และใช้ดูว่าบริษัทยังมีอะไรอย่างอื่นที่เราต้องกังวลอีกหรือเปล่า ผมถือว่า ผมเน้นลงทุนแต่ในบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น และอาศัยการกระจายการลงทุน แทนการวิเคราะห์งบการเงินแบบเจาะลึก นักลงทุนบางคนอาจใช้งบการเงินเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกหุ้น เช่น คนที่ลงทุนในแนว Asset Play แต่ผมก็ไม่เคยลงทุนในแนวนั้นเลย ผมคิดว่าผมคงไม่ได้รู้บัญชีลึกซึ้งมากขนาดที่จะขุดพบสิ่งที่ซ่อนอยู่ในงบการ เงินที่คนทั่วไปมองไม่เห็นออกมาได้ งบการเงินเป็นสิ่งที่บอกอดีตและปัจจุบันของบริษัทได้ดี แต่บอกอนาคตได้น้อย ผมจึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพมากกว่า

สาระสำคัญของงบการเงินของบริษัทมหาชนนั้นอยู่ ในงบสามตัวใหญ่ ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด ส่วนหมายเหตุประกอบงบการเงิน และงบแสดงส่วนเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นนั้น เป็นส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติม ถ้าจะให้ดีเวลาอ่านงบการเงินควรพลิกไปอ่านความเห็นของผู้สอบบัญชีด้วยสักนิด งบการเงินที่ดีควรเป็นงบที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข ถ้าหากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น หรือแสดงความเห็นอย่างมีเงิ่อนไข มักทำให้ผมไม่ค่อยอยากอ่านงบการเงินของบริษัทนั้นต่อแล้ว เพราะไม่รู้ว่า สิ่งที่แสดงอยู่ในงบการเงินนั้นจะเชื่อถือได้มากแค่ไหน และพาลให้อยากเลิกคิดลงทุนในบริษัทนั้นไปด้วยเลย เพราะไม่รู้ว่าเราจะเสี่ยงลงทุนกับบริษัทที่ไม่สามารถแสดงงบการเงินในแบบที่ เรียบร้อยตามหลักบัญชีให้นักลงทุนดูได้ไปทำไม ในเมื่อเรายังมีตัวเลือกอื่นดีๆอีกมากมายในตลาด
.
และเช่นเดียวกัน การเป็นนักลงทุนนั้น ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเก่งบัญชีมากๆ แต่ควรเข้าใจภาพใหญ่ๆของการดูงบการเงิน เวลาที่เจองบการเงินของบริษัทที่ซ้บซ้อนมากๆ มีรายการพิเศษเยอะๆ แทนที่เราจะต้องพยายามแกะให้ได้ เราสามารถเปลี่ยนไปลงทุนในบริษัทอื่นที่มีงบการเงินที่เข้าใจได้ง่ายกว่าแทน ก็ได้ มีให้เลือกอีกเยอะแยะในตลาด วอ เรน บัฟเฟต กล่าวว่า บริษัทที่เขียนงบการเงินให้คนอ่านเข้าใจยากๆ เหมือนไม่อยากให้คนเข้าใจนั้น แสดงว่าอาจมีอะไรบางอย่างที่ไม่ดีที่เขาจะต้องแอบซ่อนเอาไว้ ถ้าธุรกิจดีจริงๆ เขามักจะอยากโชว์

แนวคิดอย่างแรกที่อยากให้นักลงทุนมองเวลาที่เริ่มต้นอ่านงบการเงินคือ งบดุลเป็นบัญชีที่แสดง “ฐานะการเงินของบริษัท” ณ วันสิ้นงวด พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ สมมติว่าหยุดกิจกรรมทุกอย่างไว้ชั่วคราว ณ วันสิ้นงวด แล้วลองนับดูว่าบริษัทมีสมบัติอะไรติดตัวบ้าง มีหนี้เท่าไร (เอาสินทรัพย์หักหนี้สินจะเหลือเป็นส่วนที่เป็นของบริษัทจริงๆ) ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นคือบัญชีที่แสดง ผลงานของบริษัท “ตลอด” งวดบัญชีนั้น กล่าวคือ ตลอดช่วงเวลาของรอบบัญชีนั้น บริษัททำรายได้ไปได้เท่าไร หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรเท่าไร (รายได้หักค่าใช้จ่ายเท่ากับกำไร) งบดุลจึงเป็นเหมือนภาพนิ่งเมื่อวันจบงวด ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นเป็นผลงานรวมตลอดระยะเวลาทั้งหมดเฉพาะในรอบบัญชีนั้น
ส่วนงบกระแสเงินสดนั้น เป็นบัญชีที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินสดระหว่างรอบบัญชีนั้น นักบัญชีบังคับให้บริษัทมหาชนต้องแสดงการไหลเข้าออกของเงินสดด้วยเพื่อ “กันเหนียว” กล่าวคือ เวลาคิดกำไรขาดทุนตามหลักบัญชีนั้นอาจมีช่องว่างบางอย่างที่ทำให้บริษัทฉายภาพว่าธุรกิจไปได้ดี ทั้งที่จริงๆแล้วมีปัญหา การบังคับให้ต้องแสดงงบกระแสเงินสดด้วยนั้น จะช่วยทำให้บริษัทหาช่องว่างได้ยากขึ้น บางคนบอกว่างบกระแสเงินสดสำคัญ งบกำไรขาดทุนไม่สำคัญ บางคนบอกว่างบกำไรขาดทุนสำคัญ งบกระแสเงินสดไม่สำคัญ แต่ที่จริงแล้ว เวลาดูงบการเงินควรดูทั้งสามงบประกอบกันว่าสอดคล้องกันหรือไม่ถึงจะชัวร์ สรุปก็คือสำคัญทั้งสามงบ
นอกจากนี้ ในแต่ละงบยังแยกออกเป็นสองชุดคือ งบการเงินเฉพาะบริษัท และงบการเงินรวม ด้วย เพราะบริษัทหนึ่งๆ อาจประกอบด้วยบริษัทร่วมและบริษัทย่อยหลายบริษัท เช่น พวกโฮลดิ้งคอมปะนี งบการเงินรวมคืองบที่รวมงบการเงินของบริษัทร่วมและบริษัทย่อยเข้าด้วยกันให้ เหมือนเป็นบริษัทเดียวกัน จะได้เห็นสถานะการเงินทั้งหมดของบริษัท มีคำถามเสมอว่า เราควรดูงบการเงินเฉพาะของบริษัทหรืองบการเงินรวมดี บ่อยครั้งที่บริษัทมหาชนต้องการให้แต่ละหน่วยธุรกิจบริหารจัดการตัวอย่างแบบ เป็นเอกเทศ จึงทำให้ต้องมีโครงสร้างเป็นบริษัทร่วมและบริษัทย่อย แต่ ในมุมของผู้ถือหุ้นแล้ว ไม่ว่าจะซอยยังไงก็เป็นสมบัติของผู้ถือหุ้นเหมือนกัน การที่ต้องจัดทำงบการเงินรวมก็เป็นวิธีการทางบัญชีที่จะช่วยทำให้กลุ่ม ธุรกิจดูเหมือนเป็นก้อนเดียวกัน โดยปกติแล้ว ผมจึงดูแต่งบการเงินรวมเป็นหลัก มีบางกรณีเหมือนกันที่เราควรจะดูงบการเงินเฉพาะของบริษัทมากกว่างบการเงินรวม แต่เป็นกรณีที่น้อยมากครับ ไม่อยากขยายความให้ชวนปวดหัว
เอาแค่นี้ก่อนนะครับสำหรับการ overview เอาไว้ตอนหน้าจะมาลงรายละเอียดทีละงบว่า เราควรดูอะไรในงบเหล่านั้นบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น